ช่วงนี้อากาศในเมืองไทยไม่ถึงกับร้อนมาก ตื่นนอนมาในตอนเช้าเห็นเหมือนหมอกจางๆ หลายคนอาจจะคิดว่า ‘วันนี้อากาศดีจัง คงจะเย็นสบายกำลังดี’ แต่อันที่จริงแล้วเมื่อออกจากบ้านไป อาจพบว่าที่พบว่าเป็นหมอกจางๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นควันฝุ้นละอองขนาดเล็กที่สามารถทำลายสุขภาพปอด รวมถึงระบบทางเดินหายใจของเราได้เลยทีเดียว

อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง อันตรายอย่างไร?

ฝุ่นละออง เป็นมลพิษในอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานคร และชุมชนขนาดใหญ่ จากการวิจัยพบว่าฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจผ่านโพรงจมูกเข้าไปถึงถุงลมในปอด ทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง และฝุ่นละอองจะมีพิษมากขึ้น หากฝุ่นละอองนั้นเกิดจากการรวมตัวของก๊าซบางชนิด เช่นซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ออกไซด์ของไนโตรเจนเข้าไปในอนุภาคของฝุ่น โดยก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองผิวหนัง ทางเดินหายใจ และดวงตาได้

ผู้ที่เสี่ยงได้รับอันตรายจากฝุ่นละอองในอากาศมากที่สุด คือกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง

ในช่วงที่สภาพอากาศไม่ถ่ายเทนัก กลุ่มฝุ่นละอองอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ จึงขอแนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะฝุ่นละออง หรือมลภาวะอากาศเป็นพิษในเมืองกรุง เพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้

  1. หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น
     
  2. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน หากปิดหน้าต่างไม่ได้ ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดมาปิดแทนหน้าต่าง
     
  3. หากจำเป็นต้องเดินทางออกไปนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดปิดจมูก และปาก หรือสวมหน้ากากกรองฝุ่น
     
  4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน
     
  5. ดื่มน้ำมากๆ และงดสูบบุหรี่ในช่วงที่พบฝุ่นละอองในอากาศมาก
     
  6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก ต้องดูแลรักษาสุขภาพเป็นพิเศษ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอากาศที่มีฝุ่นละออง
     
  7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
     
  8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ทำให้อากาศแย่ไปกว่าเดิม

อ่านต่อ >> “มลพิษในอากาศ” อันตรายต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ

ภาพ :iStock