รศ.นพ.ชัยยศ  ธีรผกาวงศ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

เกิดขึ้นได้อย่างไร

มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นโรคที่มักพบในผู้ป่วยหญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดระดูหรือหมดระดูแล้ว มักพบในผู้ป่วยที่เป็นคนอ้วน มีโรคเบาหวาน หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย โรคนี้มักเกี่ยวข้องกับการมีระดับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) สูง การที่มีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยไม่มีพยาธิสภาพก็เป็นอาการนำของโรคนี้ได้ พันธุกรรมก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคนี้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม และจำเป็นต้องรับประทานยาฮอร์โมนบางชนิดเพื่อเป็นการรักษาเพิ่มเติมก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้

อาการเป็นอย่างไร

อาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในวัยใกล้และวัยหมดระดู ผู้ป่วยบางรายมักจะเข้าใจผิดว่าเลือดออกผิดปกตินั้นเป็นอาการปกติในผู้ป่วยวัยใกล้หมดระดู ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ล่าช้ากว่าที่ควร

การวินิจฉัยโรคนี้ทำอย่างไร

การซักประวัติ การตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจภายใน อาจจะช่วยให้ระลึกถึงโรคนี้ได้ แต่ไม่แม่นยำนักเพียงแต่ช่วยในการวินิจฉัยเบื้องต้น

การวินิจฉัยทางเซลล์วิทยา ได้แก่ การเก็บเซลล์จากช่องคลอดหรือในโพรงมดลูกไปย้อมสีและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็สามารถจะช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้บางส่วน แต่ก็ยังไม่ใช่การวินิจฉัยที่แม่นยำ

การวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ได้แก่

  1. การใช้เครื่องมือดูดเซลล์จากในโพรงมดลูกมาตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งสามารถกระทำได้ง่ายแบบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่มีความเจ็บปวดแต่อย่างใด
     
  2. การขูดมดลูกเพื่อนำเอาเยื่อบุโพรงมดลูกไปย้อมสีและตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ถือว่าเป็นการวินิจฉัยที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ดีที่สุด การขูดมดลูกสามารถกระทำได้โดยฉีดยาชาเฉพาะที่หรือดมยาสลบซึ่งไม่มีความเจ็บปวดแต่อย่างใด

การตรวจโดยการใช้เครื่องอัตราซาวนด์เพื่อดูความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูกนั้น มักจะไม่สามารถสรุปว่าเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะเยื่อบุโพรงมดลูกที่หนากว่าปกตินั้นอาจจะเกิดพยาธิสภาพชนิดอื่นก็ได้

การตรวจโดยการใช้กล้องส่องในโพรงมดลูกสามารถที่จะมองเห็นพยาธิสภาพและสามารถที่จะทำการตัดเนื้อบริเวณนั้นออกมาตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำ

โรคนี้ป้องกันได้หรือไม่

การรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูกโดยที่ไม่มีพยาธิสภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม อาจจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ภายหลัง

การเลี่ยงการรับฮอร์โมนเพศหญิง (เอสโตรเจน) โดยไม่เหมาะสมก็เป็นการป้องกันโรคนี้ได้เช่นกัน

ดังได้กล่าวแล้วว่าภาวะอ้วน โรคเบาหวาน และภาวะความดันโลหิตสูง ล้วนเป็นภาวะที่พบร่วมกับโรคนี้ ฉะนั้นผู้ซึ่งไม่มีภาวะดังกล่าวนี้ก็อาจจะอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

มีการตรวจคัดกรองโรคนี้หรือไม่

เนื่องจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั้น การวินิจฉัยที่แน่นอนและแม่นยำต้องอาศัยการตรวจเยื่อบุโพรงมดลูกทางพยาธิวิทยาซึ่งมี 2 วิธี วิธีแรกผู้ป่วยจะต้องได้รับการเก็บเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกโดยวิธีดูดออกมาหรืออีกวิธีหนึ่ง คือ การขูดมดลูกเพื่อจะได้เนื้อเยื่อมาตรวจ แต่การขูดมดลูกนั้นเมื่อเทียบแล้วเหมือนการได้รับการผ่าตัดเล็กชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องกระทำในห้องผ่าตัดจึงไม่เหมาะที่จะใช้ในผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีอาการผิดปกติและในผู้ป่วยที่ไม่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด การมาพบแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ถ้าได้รับการตรวจโดยวิธีหนึ่งวิธีใดข้างต้นนี้มักจะพบว่าผู้ป่วยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกนั่นหมายความว่าการรักษายังคงได้ผลดี

การตรวจคัดกรองวิธีอื่น ๆ ที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วมีความถูกต้องแม่นยำต่ำ แม้การตรวจบางอย่างจะง่ายไม่เจ็บปวดและราคาถูกก็ไม่เป็นที่นิยมใช้กัน

โรคนี้รักษาอย่างไร หายหรือไม่

เนื่องจากมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมักจะมาพบแพทย์ในระยะต้นของโรค อัตราหายของโรคจึงสูงมากถึง 80 - 90%

การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่เป็นมาตรฐานนั้น มักเริ่มต้นด้วยการผ่าตัด แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมักจะตัดมดลูกและปีกมดลูกออกทั้งสองข้าง และแพทย์จะตรวจดูการกระจายของมะเร็งและทำการผ่าตัดอื่น ๆ ตามความเหมาะสม เช่น การเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่หลอดเลือดใหญ่เอออต้าในช่องท้องออก เป็นต้น

ดังได้กล่าวแล้วว่าผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เร็ว ตั้งแต่มีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะหายดีจากโรคโดยผ่านการผ่าตัดอย่างเดียว

การรักษาเสริมหลังการผ่าตัดหรือการรักษาที่เป็นทางเลือกอื่น ได้แก่

การรักษาทางรังสี มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนใหญ่สามารถตอบสนองต่อรังสีรักษาได้ รังสีรักษานั้นสามารถที่จะให้ก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยบางรายที่มีโรคร่วมซึ่งทำให้การผ่าตัดใหญ่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ป่วยซึ่งคาดว่าการผ่าตัดอาจไม่สามารถตัดมะเร็งออกได้อย่างเหมาะสม จุดประสงค์ของการให้รังสีรักษาก่อนผ่าตัดในผู้ป่วยเช่นนี้ เพื่อลดชนิดของการทำหัตถการให้น้อยลงเพื่อผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดต่ำลง แต่มีโอกาสหายจากโรคได้เช่นกัน

รังสีรักษาบางครั้งมีความจำเป็นที่จะต้องให้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด เช่น การตรวจตราระหว่างการผ่าตัด รวมทั้งการตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่าผู้ป่วยรายนั้นมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นใหม่ของโรคสูง การให้รังสีรักษาเพิ่มเติมจะช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้การรักษาวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การให้ฮอร์โมนหรือเคมีบำบัดก็เป็นการรักษาที่อาจจะใช้ในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยมุ่งเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคในอัตราสูงสุด

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอขอบคุณ

ภาพ :iStock