สาเหตุความอ้วน ไม่ได้เกิดขึ้นจากอาหารหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเท่านั้น แต่สารเคมีจากของใกล้ตัวที่อยู่ในบ้านก็ทำให้อ้วนได้แบบไม่รู้ตัว
ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน คนเราถูกรายล้อมไปด้วยสารเคมีชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะในอาหาร หรือแม้แต่ในข้าวของเครื่องใช้ บางชนิดก็มีประโยชน์ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ให้โทษทั้งในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือสารที่ให้โทษเหล่านั้นแม้เราจะหลีกเลี่ยงแล้ว แต่ยังอาจจะมีสารบางชนิดที่หลบซ่อนอยู่ใกล้ตัวเราโดยที่เราไม่รู้และแอบส่งผลเสียอย่างช้า ๆ กับสุขภาพ ไม่ว่าจะอาการเจ็บป่วยหรือแม้แต่ความอ้วน อย่างสารทั้ง 4 ชนิดนี้ที่ขึ้นชื่อว่าค่อนข้างอันตรายต่อสุขภาพ และเป็นสาเหตุของความอ้วนได้อย่างไม่น่าให้อภัย
สารบิสฟีนอล เอ (Bisphenol-A, BPA)
แหล่งที่อาจพบการปนเปื้อน : ขวดพลาสติก ขวดนมเด็ก และอาหารกระป๋อง
เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อเจ้าสารนี้ผ่านหูกันบ้าง เพราะเคยมีข้อมูลที่แชร์กันบนสังคมออนไลน์ว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง แต่จริง ๆ แล้วสารชนิดนี้ไม่ใช่สารที่่ก่อให้เกิดมะเร็งได้แต่อย่างใด เพียงแต่หากเราเผลอบริโภคอาหารที่มีสารชนิดนี้ปนเปื้อนอยู่ถึงขั้นเกิดการสะสมในร่างกายปริมาณมาก สารบีพีเอนี้ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วนมากขึ้นได้
โดยมีการศึกษาหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเอฮิเมะ ประเทศญี่ปุ่น พบว่า สารบีพีเอ สามารถเข้าไปเพิ่มจำนวนของเซลล์ไขมันในร่างกายและผลิตไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น จึงทำให้อ้วนนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น สารบีพีเอยังส่งผลต่อภาวะดื้ออินซูลิน โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความผิดปกติทางประสาท และปัญหาต่อมไทรอยด์
แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันได้มีการป้องกันการปนเปื้อนของสารบีพีเอหลากหลายหนทาง ได้แก่ การเปลี่ยนวิธีผลิตพลาสติกของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสัญลักษณ์ BPA Free ในผลิตภัณฑ์เพื่อความมั่นใจ แต่ก็อาจจะพบการปนเปื้อนได้บ้าง หากยังมีการใช้พลาสติกคุณภาพต่ำ หรือพลาสติกที่มีสารพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ค่ะ ฉะนั้นหากไม่อยากได้รับการปนเปื้อนจากสารเคมีพาอ้วนชนิดนี้ ก็ควรเลือกใช้พลาสติกคุณภาพดี รวมทั้งสังเกตพลาสติกที่ใช้สัญลักษณ์ BPA Free ให้ดีก่อนซื้อค่ะ
พาทาเลต (Phthalate)
แหล่งที่อาจพบการปนเปื้อน : ขวด, ชาม, แผ่นฟิล์มห่ออาหาร, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องมือทางการแพทย์, ขวดนม และของเล่นเด็ก
สารเคมีอีกชนิดที่ส่งผลต่อความอ้วนได้ นั่นก็คือสารพาทาเลต อันเป็นสารที่ใช้มากในผลิตภัณฑ์ประเภทพีวีซี โดยพลาสติกที่พบการปนเปื้อนของสารนี้มักเป็นพลาสติกพีวีซีที่ยืดหยุ่นได้ เนื่องจากมีสารพาทาเลตผสมอยู่ในเนื้อพีวีซีถึง 40% โดยสารชนิดนี้ สามารถปนเปื้อนในอาหาร และในธรรมชาติได้ง่าย ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นการได้รับสารพาทาเลตจากการสูดดมในปริมาณเข้มข้นสูงก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ และประสาทส่วนกลางอาจถูกกดจนเกิดอาการปวดหัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน อีกทั้งหากได้รับสารพาทาเลตเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเข้มข้นก็อาจมีผลต่อไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และทางเดินอาหาร นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในประเทศสวีเดนแสดงให้เห็นว่า การได้รับสารพาทาเลตนั้นก็ยังอาจเข้าไปเสริมชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องให้ขยายใหญ่ขึ้น และเข้าไปก่อกวนการทำงานของฮอร์โมน ส่งผลให้อ้วนได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการกำหนดปริมาณการใช้สารพาทาเลตเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ โดยในประเทศสหรัฐอเมริกาได้กำหนดให้ใช้สารพาทาเลตกับพลาสติกได้ไม่เกิน 30% ของการผลิต และในสหภาพยุโรปได้มีการกำหนดค่าการหลุดลอกและการตกค้างในอาหารได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการออกกฎหมายมากำหนดปริมาณการใช้สารเคมีชนิดนี้ แต่ก็ได้มีการตรวจสอบอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ
พาราเบนส์ (Parabens)
แหล่งที่พบการปนเปื้อน : เครื่องสำอาง
อีกหนึ่งในสารกันบูดที่นิยมนำมาใช้ในอาหารและเครื่องสำอาง โดยพาราเบนส์ ส่วนใหญ่สามารถพบได้ในเครื่องสำอาง เช่น มาสคาร่า แชมพู และโลชั่นทาผิว เป็นต้น สารชนิดนี้เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อฮอร์โมนเพศหญิงเช่นเดียวกับสารบีพีเอ การได้รับสารชนิดนี้สะสมในร่างกายติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและต้นขา
แม้พาราเบนส์จะเป็นสารที่อาจจะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนของผู้หญิง แต่ก็เป็นสารเคมีที่ยังไม่พบการเป็นพิษร้ายแรง แต่ในบางประเทศก็ได้มีการกำหนดปริมาณการใช้สารเคมีตัวนี้เพื่อความปลอดภัยไว้เช่นกัน ส่วนในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้แต่ได้มีการควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับสารชนิดนี้เข้าไปสะสมในร่างกายมากเกินไป
ทั้งนี้วิธีการป้องกันสุขภาพจากสารพาราเบนส์ที่ง่ายที่สุดก็คือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารพาราเบนส์เป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะเครื่องสำอาง โดยในปัจจุบันก็มีการนำสารชนิดอื่นมาใช้เพื่อความปลอดภัยกันบ้างแล้ว ฉะนั้นอย่าลืมอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นอีกนิดเพื่อความปลอดภัยเนอะ
ออร์กาโนคลอรีน (Organochlorine)
แหล่งที่อาจพบการปนเปื้อน : เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อวัว พืชผักผลไม้ ยากันยุง หรือยากำจัดแมลง
ยาฆ่าแมลงสังเคราะห์ หรือสารในกลุ่มออร์กาโนคลอรีน หรือที่เรียกว่า คลอริเนเตตไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated Hydrocarbons) เป็นสารที่ประกอบด้วย ไฮโดรเจน คาร์บอน และคลอรีน แม้จะดูว่าไกลตัวแต่บอกได้เลยว่าสารชนิดนี้อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิดค่ะ เพราะสามารถปนเปื้อนได้ในอาหารและน้ำ ยิ่งโดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งเพาะปลูกทางการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลง
นอกจากนี้การใช้ยากันยุง หรือสเปรย์กำจัดแมลงก็อาจทำให้ร่างกายได้รับสารนี้เข้าไปสะสมจนอาจก่อให้เกิดอันตรายอีกด้วย ซึ่งสารในกลุ่มออร์กาโนคลอรีนจะเข้าไปสะสมในอวัยวะที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง อาทิ ตับ ไต ระบบประสาท เลือด น้ำดี เป็นต้น เนื่องจากสามารถละลายในไขมันได้ดีนั่นเอง
ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของสารชนิดนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทสั่งการ ประสาทรับความรู้สึก และสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของระบบการทำงานของฮอร์โมน ทำให้เกิดปัญหาในระบบสืบพันธุ์ รวมทั้งทำให้น้ำหนักตัวขึ้นได้ เนื่องจากสารชนิดนี้แม้จะได้รับเพียงเล็กน้อยแต่ก็จะสะสมอยู่ในร่างกาย ไม่สลายตัวไปได้โดยง่าย และถ้าหากพิษสะสมในร่างกายเป็นเวลานานก็จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ทั้งนี้เนื่องจากสารกลุ่มออร์กาโนคลอรีนเป็นสารที่อันตราย ในปัจจุบันก็ได้มีการรณรงค์ในการเลิกใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรม แต่ก็ถือว่ายังไม่สำเร็จเต็มร้อย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องระมัดระวังและสังเกตอาหารก่อนที่จะซื้อไปรับประทาน อีกทั้งยังควรรู้วิธีป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับสารเคมีดังกล่าวในขณะที่นำมาใช้ เช่น การล้างผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ให้สะอาด หรือเลี่ยงความเสี่ยงมาปรุงอาหารรับประทานเองแทนการกินอาหารสำเร็จรูปนอกบ้าน เป็นต้น
อย่ามองว่าสารเคมีเหล่านี้อยู่ไกลตัวอีกต่อไปเลย ระมัดระวังกันเอาไว้หน่อยจะดีกว่า เพราะนอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ก็ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอื่น ๆ อีกด้วย ไม่อยากสุขภาพพังก่อนวัยอันควร สังเกตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก่อนนำมาใช้ด้วยก็ดีนะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
ศูนย์ข้อมูลพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย
besthealthmag.ca
authoritynutrition.com