น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สบส. ได้มอบหมายให้กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชนและสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทั้ง 12 เขต จัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ทั่วประเทศที่มี 1,040,000 คน เพื่อฟื้นฟูความรู้เรื่องไข้เลือดออก และองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับไข้ซิกา

ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา โดยระยะเร่งด่วนนี้ จะให้ อสม.ออกเคาะประตูบ้าน กระตุ้นให้ชาวบ้านป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และช่วยกันดูแลเก็บกวาดบ้านเรือน ทั้งภายในบ้านและรอบๆ บ้านให้สะอาดทุกวัน เพื่อไม่ให้ยุงมีที่อยู่อาศัย

ซึ่งยุงลายมักชอบอยู่ตามมุมอับ มุมมืดในบ้าน และช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงตามแหล่งน้ำขังที่อยู่ในบ้านและนอกบ้านให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่าการกำจัดยุงตัวโตที่บินได้แล้ว เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงที่อากาศแห้งแล้ง โดยให้เปลี่ยนน้ำในภาชนะขังน้ำภายในบ้านทุก 5-7 วันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่เห็นมีลูกน้ำยุงอยู่ก็ตาม เช่น น้ำแจกันไม้ประดับ น้ำที่หล่อขาตู้กับข้าว น้ำใช้ในห้องน้ำ เป็นต้น

“หากประชาชนทุกคนไม่ช่วยกันทำตามที่กล่าวมา จะทำให้คนในบ้านทุกคนเสี่ยงป่วยได้ทุกวันเช่นกัน เพราะลูกน้ำกลายเป็นตัวยุงทุกวัน ยุงลายที่กัดดูดเลือดคนคือยุงตัวเมีย ยุงลายตัวเมีย 1 ตัวจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 45 – 60 วัน และกินเลือดคนเพื่อขยายพันธุ์ ตลอดอายุจะวางไข่ได้ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 50-150 ฟอง ธรรมชาติของยุงลาย จะออกหากินเวลากลางวัน

มักชอบกัดคนที่มีเหงื่อออกมาก กัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะกลิ่นตัวและลักษณะผิวหนังเด็ก กัดคนที่ตัวร้อน ชอบกัดผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งขณะนี้ผู้หญิงกำลังนิยมฮิตแฟชั่นใส่กางเกงทรงรัดรูป ส่วนใหญ่จะเป็นผ้ายืด เนื่องจากเบาสบาย คล่องตัว ถือว่าเป็นเป้าสำคัญที่มีความเสี่ยงถูกยุงลายกัด โดยเฉพาะผู้ที่ใส่สีเข้ม ซึ่งเป็นสีที่ยุงลายชอบ เช่นสีดำ สีน้ำเงิน สีน้ำตาล เป็นต้น

ยุงลายสามารถใช้ปากเจาะผ่านผ้า ดูดเลือดได้ง่าย จึงขอย้ำเตือนให้ผู้ที่ชื่นชอบชนิดนี้ ให้ระมัดระวังยุงกัด อาจทายากันยุงเคลือบบนกางเกงอีกชั้นหนึ่งก็ได้ หรือให้ใส่เสื้อผ้าโทนสีอ่อนๆ เช่นสีเหลือง สีฟ้าอ่อน สีชมพู ” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

 

นสพ.มติชน

สนับสนุนเนื้อหา