เบาหวานเป็นอีกโรคยอดฮิตของคนไทย ด้วยหลายสาเหตุ ทั้งที่เกิดจากพันธุกรรม ภาวะน้ำหนักเกิน อายุ โรคของตับอ่อน การได้รับยาบางชนิด หรือแม้กระทั่งการตั้งครรภ์ แต่อาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถเป็นทั้งตัวเร่งและตัวชะลอการเกิดโรคเบาหวาน โดยปกติแล้วอาหารที่มีน้ำตาลสูงจะเป็นตัวเร่งให้ตับอ่อนทำงานหนัก นานวันเข้าการทำงานของตับอ่อนก็จะลดลงจนอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ สาเหตุแต่ละอย่างก็หาทางหลีกเลี่ยงยากซะเหลือเกิน แต่วันนี้เราโชคดีที่ได้ทราบข่าวมาว่า โยเกิร์ต สามารถช่วยป้องกันได้และทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย
ส่วนอาหารที่ช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานจะเป็นอาหารในกลุ่มที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาผลของการรับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติกับการลดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์จากนมที่ทำจาก นม นมพร่องมันเนย หรือนมขาดมันเนยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน โดยผ่านกระบวนการหมักด้วยแบคทีเรียหลัก 2 ชนิด คือ Lactobacillus bulgaricus และ Streptococcus thermophilus แบคทีเรียจะย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมให้เป็นกรดแลคติค ทำให้มีรสเปรี้ยวและมีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว โยเกิร์ตให้คุณค่าทางอาหารสูง มีโปรตีนที่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแหล่งของวิตามินที่ละลายในน้ำ (วิตามินบี 12 และไรโบฟลาวิน) และวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามินเอ ดี และเค) มีแร่ธาตุหลายชนิด ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียม
ในปี 2011 Tong X พบความสัมพันธ์ของการรับประทานโยเกิร์ตกับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยพบว่าผู้ที่รับประทานโยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 10 การศึกษาในปี 2013 ของ Gao D ที่รวบรวมข้อมูลการศึกษาการรับประทานโยเกิร์ต (50 กรัม) เป็นประจำมีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีการศึกษาในกลุ่มหญิงวัยหมดประจำเดือนของ Margolis KL เป็นเวลา 3 ปีพบว่ากลุ่มรับประทานโยเกิร์ต ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เช่นกัน ในปี 2012 Sluijs I ศึกษาในกลุ่มชาวยุโรป 340,000 คน เพื่อหาความสัมพันธ์ของการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมกับความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมไม่ได้ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน
นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มคนที่รับประทานชีสและโยเกิร์ตยังมีส่วนช่วยลดการเกิดโรคเบาหวาน อีกหนึ่งการศึกษาที่น่าสนใจของ Ejtahed HS ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก (Lactobacillus acidophilus La5 และ Bifidobacterium lactis Bb12) กับโยเกิร์ตธรรมดา 300 กรัมต่อวัน 6 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่าการรับประทานโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติก ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม อีกทั้งช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระในเลือด และเพิ่มเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย (Superoxide dismutase และ glutathione peroxidase)
สารสำคัญที่มีอยู่ในโยเกิร์ตคือโพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จากการศึกษาพบว่าโพรไบโอติดจะช่วยสารอนุมูลอิสระในร่างกาย และช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และช่วยเพิ่มความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้อาจจะมีผลช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้อีกด้วย
ดังนั้น การรับประทานโยเกิร์ตธรรมชาติที่ จากการศึกษาทั้งทางระบาดวิทยาและการศึกษาทางคลินิกส่วนใหญ่พบความสัมพันธ์ของการรับประทานโยเกิร์ตกับการลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โยเกิร์ตที่ดีต่อสุขภาพคือโยเกิร์ตที่มีไขมันต่ำ มีเชื้อจุลินทรีย์หรือโพรไบโอติกในโยเกิร์ต และสิ่งที่สำคัญคือต้องเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่มีการปรุงแต่งรสชาติ เนื่องจากโยเกิร์ตรสอื่นอาจจะมีการเพิ่มน้ำตาลให้หวานมากขึ้นทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและประโยชน์จากโยเกิร์ตจะเปลี่ยนไป เราสามารถเพิ่มรสชาติของโยเกิร์ตให้อร่อยมากยิ่งขึ้นได้ด้วยการเติมผลไม้สดชนิดต่างๆ หรือถั่วเปลือกแข็งร่วมกับการรับประทานโยเกิร์ต เห็นไหมคะ การทานโยเกิร์ตได้ทั้งประโยชน์และความอร่อย แต่ถ้าจะให้ได้ผล ควรทานเป็นประจำนะคะ แค่สองสามเดือนครั้งคงไม่เห็นผลนะจ๊ะ
ที่มา manager.co.th