หลายคนคงรู้กันดีอยู่แล้วใช่มั้ยว่า ร่างกายของเราจะประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ ซึ่งธาตุเหล่านี้ก็มีส่วนเชื่อมโยงไปถึงเรื่องอาหารการกินของเรา เพราะหากขาดสมดุลแล้ว สุขภาพร่างกายก็จะพลอยแย่ตามไปด้วย 
  

          ตามหลักอายุรเวชของอินเดีย ได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 
  

กลุ่ม 1:กผะ คือคนที่มีธาตุดินและธาตุน้ำมากกว่าธาตุตัวอื่นๆ 


          ส่วนใหญ่มักเป็นคนมีรูปร่างใหญ่ เจ้าเนื้อ อ้วนง่ายแต่ลดยาก (ทั้งๆ ที่กินไม่จุ) มักเสี่ยงต่อโรคความดันสูง เบาหวาน และโรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยงอาหารหนักหรืออาหารย่อยยาก นม และของทอด ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย รสเผ็ดร้อน ขม และฝาด อย่างผักต่างๆ เนี่ยล่ะเหมาะนัก สำหรับของหวานก็ควรกินแบบไม่หวานมากและร้อนๆ ถ้าทั้งหวานและเย็นอย่างไอศกรีมเนี่ย เลี่ยงได้เป็นดี 
  

กลุ่ม 2: ปิตตะ คือคนที่มีธาตุไฟมากกว่าธาตุตัวอื่นๆ 


          ลักษณะเด่นของคนธาตุไฟคือ รูปร่างค่อนข้างสมส่วน ผิวมันและคล้ำ มักเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ ผิวหนังอักเสบ อย่างแผลในปาก ผมร่วง และผิวหนังแพ้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารทะเล และอาหารที่มีน้ำมัน (เพราะมีพลังร้อน) ให้เน้นไปที่รสหวาน ขม และฝาดให้มากหน่อย เพราะทั้ง 3 รสนี้จะค่อนข้างเย็นและช่วยคุมธาตุไฟได้ด้วย ตัวอย่างผักที่เหมาะกับชาวปิตตะ คือ มะระ สะเดา ถั่วต่างๆ หรือแตงกวาก็ได้ค่ะ ไม่ควรกินมะเขือเทศ เพราะมีรสออกรสเปรี้ยว ซึ่งถือว่าเป็นของแสลงสำหรับคนธาตุไฟ 
  

กลุ่ม 3: วาตะ คือคนที่มีธาตุลมและอากาศธาตุมากกว่าธาตุอื่นๆ 


          คนกลุ่มนี้มักมีรูปร่างผอมบางและผิวแห้ง ควรกินอาหารรสหวาน เปรี้ยว และเค็ม เพราะรสเผ็ดร้อน ขม และฝาด จะไปลดธาตุดินและธาตุน้ำในร่างกาย แต่ช่วยเพิ่มธาตุลมซึ่งร่างกายของชาววาตะมีอยู่มากแล้ว ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดตามข้อ สำหรับผักควรกินแบบผัดกับน้ำมันมากกว่ากินสดๆ นะคะ เพราะผักสดส่วนใหญ่มักมีรสขมหรือฝาด ผักที่เหมาะสำหรับชาววาตะคือหน่อไม้ฝรั่ง หัวผักกาด และกระเทียม ส่วนผลไม้กินได้แทบทุกอย่าง เพราะมีรสหวาน


          ทราบกันอย่างนี้แล้วว่าธาตุไหนควรกินอะไรมากน้อยแค่ไหน ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติกันนะคะ เพื่อสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงกันทุกๆ คนค่ะ 
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก