โรคกลัวที่แคบ อาการใจสั่น อึดอัด คล้ายหายใจไม่ออกเมื่อรู้สึกถูกกักล้อมหรือต้องอยู่ในที่แคบ ๆ โรคกลัวแปลก ๆ แบบนี้รักษายังไงให้หาย แล้วเราล่ะเข้าข่ายเป็นโรคกลัวที่แคบหรือเปล่า ?
Claustrophobia หรือโรคกลัวที่แคบ โรคกลัวสถานการณ์หรือภาวะที่ตัวผู้ป่วยเหมือนถูกกักล้อมอยู่ในที่แคบ ๆ จนก่อให้เกิดอาการอึดอัด ใจสั่น เหงื่อซึม หรือบางรายอาจมีความกลัวหนักจนเกือบเอาชีวิตไม่รอดเลยก็มี ซึ่งอาการทางจิตกับความกลัวที่แคบอย่างนี้จะร้ายแรงขนาดไหน มีวิธีป้องกันและรักษาอาการกลัวที่แคบยังไง หรือลองมาเช็กอาการในเบื้องต้นกันก่อนก็ได้ว่าตัวเราเข้าข่ายเป็นโรคกลัวที่แคบหรือเปล่า
โรคกลัวที่แคบ Claustrophobia คืออะไร ?
โรคกลัวที่แคบ คือ กลุ่มอาการวิตกกังวลผิดปกติจนอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าหนีไม่ได้ ถูกกักล้อมในที่แคบ ๆ หรือต้องอยู่คนเดียวในช่องเล็ก ๆ ทุกอย่างดูประชิดตัว เช่น เมื่อต้องอยู่ภายในลิฟต์โดยสารที่มีคนหนาแน่น ต้องอยู่ในห้องขนาดเล็กที่ไม่มีแม้กระทั่งหน้าต่าง หรือตกอยู่ในที่นั่งด้านในสุดของเครื่องบิน โดยมีผู้โดยสารคนอื่น ๆ ล้อมรอบตัวอยู่ หรือผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกลัวเกิดขึ้นได้เมื่อต้องสวมชุดที่รัดแน่นจนเกินไป เป็นต้น
โดยจากสถิติผู้ป่วยโรคกลัวที่แคบของ NYU Langone Medical Center บันทึกให้เห็นว่า โรคกลัวที่แคบอาจไม่ใช่โรคที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด แต่อาจเริ่มเป็นในช่วงวัยเด็กหรือวัยรุ่นเสียส่วนใหญ่
โรคกลัวที่แคบ อาการและสัญญาณบอกโรค
อาการของโรคกลัวที่แคบในผู้ป่วยแต่ละรายอาจแสดงออกต่าง ๆ กันไป โดยสามารถไล่เรียงอาการของโรคกลัวที่แคบได้ดังต่อไปนี้
เหงื่อออกมาก
ใจสั่น หัวใจเต้นแรง
ความดันโลหิตพุ่งพรวด
เวียนหัว
ปากแห้ง
หายใจไม่ทัน หายใจไม่ทั่วท้อง (ไฮเปอร์)
ร้อนวูบวาบ
ตัวสั่น
ปั่นป่วนในท้อง
กลัวจนคุมสติไม่อยู่ รู้สึกหนาวสั่นไปทั้งตัว
คลี่นไส้ อาเจียน
หน้ามืด เป็นลม
ปวดศีรษะ
ช็อก
แน่นหน้าอก หรือบางคนอาจรู้สึกเจ็บหน้าอก
รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำเฉียบพลัน บางรายอาจมีปัสสาวะราด
เลอะเลือน ขาดสติ
โรคกลัวที่แคบ สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง ?
โดยปกติแล้วโรคกลัวที่แคบมักจะมีสาเหตุจากประสบการณ์เลวร้ายอันเกี่ยวกับที่แคบที่เกิดขึ้นตอนยังเป็นเด็ก ซึ่งฝังใจผู้ป่วยให้รู้สึกกลัว คิดว่าที่แคบนั้นมีอันตรายนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์จนกระทั่งกลัวฝังใจมาจนถึงตอนโต เช่น เคยเกือบจมน้ำในสระว่ายน้ำ พลัดหลงจากผู้ปกครองในสถานที่ที่มีคนแออัด หรือเล่นซนในท่อ หรือหลุมอะไรสักอย่าง แล้วติดอยู่ในนั้นเป็นเวลาหนึ่ง เป็นต้น
ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกลัวจับใจ จนสมองจดจำว่าสิ่งที่เล็ก ๆ แคบ ๆ นั้นอันตราย หากกลับไปเข้าอีกจะทำให้รู้สึกกลัวอย่างที่เคยเป็นมา จนแม้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และรู้ว่าที่แคบไม่อันตรายขนาดนั้น แต่จิตใต้สำนึกก็จะสั่งให้รู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผลอยู่นั่นเอง และนอกจากนี้ความกลัวที่แคบยังอาจเกิดได้จากพฤติกรรมเลียนแบบ จากการที่ผู้ปกครองหรือคนใกล้ตัวกลัวที่แคบด้วยนะคะ
ทั้งนี้ยังมีการศึกษาทางการแพทย์ที่ถูกตีพิมพ์ใน Psychiatry and Clinical Neurosciences พบว่า อาการโฟเบียหรืออาการกลัวต่าง ๆ อ่านมีเบื้องหลังอยู่ที่ความผิดปกติของสมอง อันได้แก่
อมิกดาลามีขนาดเล็กเกินไป
Fumi Hayano และทีมนักวิจัยพบว่า ภายในสมองของผู้ป่วยโรคกลัวที่แคบและโรคกลัวประเภทอื่น ๆ มักจะมีขนาดอมิกดาลา หรือต่อมเล็ก ๆ ใต้สมองที่มีไว้ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ รวมถึงการแสดงออกของร่างกายกับความรู้สึกแบบต่าง ๆ ที่เล็กกว่าปกติ ซึ่งปัจจัยนี้อาจทำให้ร่างกายจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกกลัวได้ไม่เต็มประสิทธิภาพมากนัก จนเกิดเป็นโรคโฟเบียต่าง ๆ ได้
ยีนความพร้อมที่จะกลัว
การศึกษาพบว่าในบางรายมีอาการกลัวอันฝังรากลึกมาจากยีนในร่างกาย โดยเฉพาะกับกลุ่มคนที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ ถูกฝึกให้มีความระแวดระวังตลอดเวลา หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามีสัญชาติญาณในการเอาชีวิตรอดค่อนข้างสูง ซึ่งความกลัวของคนเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลาหนึ่ง และอาจหายเป็นปกติได้เองเมื่อเวลาผ่านไป
โรคกลัวที่แคบ จะเกิดอาการกลัวต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ไหน ?
นอกจากพื้นที่เล็กแคบแล้ว ความกลัวนี้อาจเกิดได้จากความรู้สึกแออัด สับสน เมื่อต้องอยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย หรือเมื่อรู้สึกอากาศหายใจในที่นั้น ๆ มีน้อย อาการกลัวก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่ในเบื้องต้นเราอาจสังเกตความกลัวของเราได้จากอาการและความกลัวเมื่อต้องอยู่ในที่เหล่านี้
ลิฟต์โดยสาร
ห้างสรรพสินค้าหรือที่ที่คุ้นเคยที่ถูกจัดแต่งใหม่ เปลี่ยนแปลงไป
อุโมงค์
ห้องใต้ดิน
รถไฟใต้ดิน
ห้องขนาดเล็ก แคบ
ห้องพักที่ไม่มีหน้าต่าง หรือหน้าต่างไม่สามารถเปิดได้
ประตูหมุน
เครื่องบิน
ห้องน้ำสาธารณะ
ห้องที่ถูกล็อก
รถยนต์ที่มีระบบล็อกประตูอัตโนมัติ
ตู้รถไฟ
ชุมชนที่มีคนแออัด/สถานที่ที่เต็มไปด้วยผู้คน
อุโมงค์ล้างรถอัตโนมัติ
เครื่องสแกน MRI
การวินิจฉัยโรคกลัวที่แคบ
หากต้องการเช็กให้ชัวร์ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งจิตแพทย์จะวินิจฉัยอาการป่วยจากอาการผิดปกติที่ผู้ป่วยเป็น อาจสอบถามรายละเอียดของอาการกลัวนั้น ๆ และวิเคราะห์จากสิ่งหรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว
ทั้งนี้จิตแพทย์จะนำแบบทดสอบทางจิตวิทยาให้ทำเพื่อคัดแยกอาการ และวัดระดับความกลัวในเบื้องต้นก่อน
การรักษาโรคกลัวที่แคบ
หลังจากวินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบจริง จิตแพทย์จะต้องประเมินความรุนแรงของอาการ เพื่อเลือกแนวทางรักษาโรคกลัวที่แคบ ซึ่งมีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy)
วิธีรักษาด้วยความคิดและพฤติกรรมบำบัด หรือ CBT เป็นแนวทางการรักษาโรคกลัวที่แคบด้วยการให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจความกลัวของตัวเอง ค่อย ๆ ปรับทัศนคติที่ผู้ป่วยมีต่อที่แคบอย่างช้า ๆ จนผู้ป่วยเขาถึงความกลัวของตัวเองและเข้าใจจนหายกลัวสิ่งนั้น ๆ
การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาจะเน้นไปที่การบำบัดความวิตกกังวล ลดความเครียดเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่รู้สึกกลัว แต่การรักษาด้วยวิธีนี้อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ดังนั้นจิตแพทย์จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อใช้วิธีบำบัดด้วยความคิดไม่ค่อยได้ผล รวมไปถึงต้องดูความเหมาะของผู้ป่วยด้วย
การผ่อนคลาย
ในบางเคสที่ความรุนแรงของอาการไม่มาก อาจบำบัดได้ด้วยการผ่อนคลายร่างกายและสมอง โดยการฝึกหายใจลึก ๆ หรือบริหารกล้ามเนื้อร่างกาย เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดเมื่อรู้สึกกลัว
อย่างไรก็ตาม โรคกลัวที่แคบไม่ได้มีอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด ทว่าอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้นหากรู้สึกว่าตัวเองกลัวที่แคบ ก็ลองเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์ดูดีกว่านะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Medical News Today
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องของแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี