อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งสาเหตุนั้นเกิดจากการที่ลำไส้ไม่สามารถขับถ่ายของเสียออกมาได้ง่ายและสม่ำเสมอ มีอาการไม่ถ่ายมากกว่า 3 วัน หรือ วันเว้น 2 วัน รวมถึงของเสียนั้นมีลักษณะแข็งและยากต่อการขับถ่าย

ถ้าหากคุณกำลังทรมานกับอาการเหล่านี้อยู่ล่ะก็ วันนี้เรามีวิธีแก้ปัญหานี้มานำเสนอ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณต้องปรับพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายใหม่เท่านั้น ส่วนจะมีวิธีการและขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. ทานอาหารเช้า: ในช่วงเช้านั้นลำไส้ใหญ่จะทำงานมากที่สุด อาหารที่เรารับประทานเข้าไป จะช่วยกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้ให้บีบตัว และทำให้คุณรู้สึกอยากขับถ่ายของเสียออกมา

2. เดิน: หลังรับประทานอาหารเช้าเสร็จ ให้คุณเดินไปเดินมาเพื่อช่วยให้ลำไส้ได้ขยับตัว และเมื่อรู้สึกปวดท้องต้องการที่จะถ่าย ให้คุณรีบเข้าห้องน้ำในทันที เพราะความรู้สึกดังกล่าวจะอยู่กับคุณแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น

3. ดื่มน้ำเยอะๆ: ปกติคนเราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร แต่สำหรับคนท้องผูกคุณต้องดื่มมากกว่าคนปกติ ซึ่งคุณควรดื่มอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร เพราะน้ำจะช่วยให้ของเสียที่คุณจะถ่ายออกมานั้นไม่แข็ง ทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น แต่คนที่เป็นโรคไตหรือโรคหัวใจ ให้ลดปริมาณลงเหลือเพียงไม่เกิน 2 ลิตรต่อวัน

4. หนีไขมัน: คุณควรเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน เพราะไขมันจะทำให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดและท้องผูกได้

5. ทานผักผลไม้เป็นประจำ: ขอแนะนำให้คุณทานผักผลไม้แบบสดๆ จะดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยอาหารเพียงพอต่อการขับถ่าย หรืออีกหนึ่งวิธีที่ช่วยในการขับถ่ายคือ ปั่นผลไม้รวมผสมโยเกิร์ต (ธรรมชาติ) ทานทุกเช้า - เย็น ทุกวัน จะช่วยให้การขับถ่ายระบายท้องดียิ่งขึ้น

6. ลดความเครียด: ความเครียดเป็นอีกหนึ่งสาเหตุทำให้ระบบขับถ่ายของคุณรวน เนื่องจากเมื่อคุณมีความเครียดจะทำให้กระทบต่อชีวิตประจำวันทั้งการทานอาหาร การนอนหลับ เป็นผลให้คุณท้องผูกในที่สุด

7.ออกกำลังสิดีที่สุด: ให้คุณออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการวิ่งหรือเดินอย่างน้อย 20 นาทีต่อวัน เพื่อช่วยบริหารหัวใจและทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น

หากคุณปฏิบัติตามทุกข้อแล้ว อาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น หรือหากอาการถ่ายนั้นมีมูกหรือเลือดปนมา รู้สึกเหมือนถ่ายไม่หมด มีท้องผูกสลับท้องเสีย ท้องผูกเฉียบพลันหรือเป็นมาในช่วงสั้นๆ และมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ให้คุณรีบเข้าพบแพทย์ด่วน

 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า