ข้อไหล่เป็นข้อที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุดข้อหนึ่งของร่างกาย การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่มีการใช้ข้อไหล่ในการเคลื่อนไหว และออกแรงอาจทำให้ข้อไหล่ได้รับบาดเจ็บ การบาดเจ็บของข้อไหล่อาจเป็นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะเล่นกีฬา หรือเป็นการบาดเจ็บเรื้อรังจากการใช้ข้อไหล่ซ้ำๆ การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อไหล่ที่พบบ่อย ได้แก่ การออกกำลังกายที่มีการขว้างโยน  หรือหมุนหัวไหล่มากๆ เช่น ว่ายน้ำ เทนนิส เบสบอล เป็นต้น

 

 

4 อาการบาดเจ็บที่พบบ่อย

 

1.การอักเสบของกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณหัวไหล่ร่วมกับกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้อ เมื่อมีอาการควรพักการใช้งานข้อไหล่ ใช้ความเย็นประคบร่วมกับใช้ยาต้านการอักเสบ หลังจากนั้นควรบริหารเพื่อฝึกกำลังของกล้ามเนื้อไหล่ และยืดกล้ามเนื้อเพื่อให้กล้ามเนื้อหุ้มข้อไหล่มีความยืดหยุ่น

 

 

2.การบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ มักพบในผู้ที่มีอายุมาก และมีการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นที่ยึดเกาะกระดูก เนื่องจากเลือดเข้าไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะเอ็นฉีกขาดเมื่อเล่นกีฬาที่มีการใช้ข้อไหล่มากๆ เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ แบดมินตัน

 

 

อาการของเอ็นกล้ามเนื้อหุ้มข้อไหล่ขาด คือ มักมีอาการปวดข้อไหล่หรือกำลังของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวอ่อนแรงลง การรักษาในกรณีที่แผลฉีกขาดมีขนาดเล็ก ให้รักษาด้วยการพักการใช้งาน 4-9 เดือน อาจทำให้เอ็นที่ขาดติดได้ ระหว่างพักควรออกกำลังเบาๆ เพื่อให้มีการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ ป้องกันไหล่ติด หากมีอาการปวดให้พักการออกกำลังกาย ในกรณีที่อาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขต่อไป

 

 

3.กระดูกหัก ที่พบบ่อย ได้แก่ กระดูกไหปลาร้า กระดูกสะบัก และกระดูกต้นแขนหัก ในกรณีที่ล้มหรือถูกกระแทกแล้วมีอาการปวดมาก ขยับข้อไหล่หรือแขนไม่ได้ หรือมีแขนผิดรูป ให้ปฐมพยาบาลโดยใช้ไม้ดามบริเวณที่บาดเจ็บให้อยู่นิ่ง และหากมีบาดแผลเลือดออก ให้ใช้ผ้าสะอาดกดห้ามเลือดและรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

 

 

4.ข้อไหล่หลุดหรือเคลื่อน สาเหตุของการหลุดเคลื่อน อาจเกิดจากการล้มและกล้ามเนื้อไหล่หดเกร็งตัวดึงข้อไหล่ให้หลุด หรือเป็นการล้มกระแทกที่ไหล่โดยตรง ผู้ที่ข้อไหลหลุดควรได้รับการดึงไหล่เข้าที่ให้เร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้นานเอ็นที่อยู่รอบข้อจะหย่อน ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ข้อไหล่หลวมและหลุดบ่อยตามมา ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 30 ปี หลังจากดึงไหล่เข้าที่แล้ว ให้พันผ้าคล้องแขนและแนบลำตัวไว้ 2-3 สัปดาห์ แล้วจึงเริ่มการเคลื่อนไหวและออกกำลังกายกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ เพื่อป้องกันไม่ให้หัวไหล่หลุดซ้ำบ่อยๆ

 

 

ป้องกันข้อไหล่บาดเจ็บ

 

• อบอุ่นร่างกายก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการออกกำลังกาย และเพื่อให้กล้ามเนื้อยืดตัวและอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม

 

 

• หากเล่นกีฬาที่ต้องปะทะหรือกระแทก ควรฝึกการเก็บข้อไหล่ การม้วนตัว และหลีกเลี่ยงการล้มในท่ากางแขนยันพื้น เนื่องจากเป็นท่าที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

 

 

• ในกีฬาปะทะ ควรใส่อุปกรณ์ป้องกันไหล่ (shoulder pad)

 

 

• ในกีฬาที่ต้องใช้หัวไหล่เพื่อออกแรงขว้างหรือโยน ควรฝึกการขว้างหรือโยนที่ถูกวิธีรวมทั้งการใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการว่ายน้ำสำหรับนักกีฬาว่ายน้ำด้วย

 

 

นพ.คมน์สิทธิ์ เดชะรินทร์

แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป