เชื่อกันว่าชาวจีนนิยมกิน รังนก กันมานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งแพทย์จีนจะเขียนใบสั่งยาโดยมี รังนก เป็นส่วนผสมด้วย เพราะเชื่อว่ารังนกสามารถรักษาโรคทางเดินหายใจ บำรุงสุขภาพเด็กที่ไม่แข็งแรง

ปัจจุบันคนเอเชียส่วนหนึ่งใช้ รังนก เป็นยาบำรุงปอดและเลือดฝาด ใช้บำรุงกำลังเด็ก ผู้ป่วยระยะพักฟื้น คนสูงอายุหรือสตรีหลังคลอดบุตร วัฒนธรรมการกิน รังนก ของคนไทย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ น่าจะได้รับการถ่ายทอดมาจากชาวจีน

ในประเทศไทย รังนก ที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ที่ภาคใต้ตามเกาะแก่งต่างๆ ตั้งแต่เขตชุมพรลงไปถึงจังหวัดสตูล ผู้ที่จะเก็บ รังนก ต้องได้รับสัมปทานจากกระทรวงการคลังก่อน และมีสิทธิ์เก็บรังนกจากเกาะนั้นๆ ได้ปีละ ๓ ครั้ง จากสรรพคุณที่เชื่อกันดังกล่าวแล้ว บวกกับความยากลำบากในการเก็บ รังนก ทำให้รังนกมีราคาแพงอย่างที่เห็นกันอยู่

รังนก

รังนก ได้มาอย่างไร

รังนก คือส่วนของนํ้าลายนกนางแอ่นที่ใช้ทำรังเพื่อวางไข่ แต่ละปีจะมีการเก็บรังนก ๓ ครั้ง ครั้งแรกจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หลังจากนั้นจะทิ้งช่วงประมาณ ๑ เดือนเพื่อให้นกทำรังเป็นครั้งที่ ๒ แล้วก็เก็บเหมือนครั้งแรก จากนั้นเว้นไปประมาณ ๓ เดือนเพื่อให้แม่นกวาง ไข่ก่อน แล้วรอให้ลูกนกฟักออกมาจนแข็งแรงบินออกไปหาอาหารได้จึงเก็บรังเป็นครั้งที่ ๓ หลัง จากนั้นก็รอถึงฤดูการเก็บ รังนก ในปีต่อไป

ผู้ได้รับสัมปทานจะต้องดูแลไม่ให้มีการรบกวนนก และดูแลสภาพแวดล้อมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อจำนวนนกนางแอ่น ซึ่งนั่นหมายถึงปริมาณรายได้ในปีต่อๆ ไป

รังนก มีส่วนประกอบอะไรบ้าง

จากการวิเคราะห์หาส่วนผสมของรังนกนางแอ่นโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบว่าประกอบด้วย น้ำร้อยละ ๕.๑๑ โปรตีนร้อยละ ๖๐.๙ แคลเซียมร้อยละ ๐.๘๕ โพแทสเซียมร้อยละ ๐.๐๓

สำหรับ รังนก สำเร็จรูป พร้อมบริโภคที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วยรังนกร้อยละ ๑ น้ำตาลกรวดประมาณร้อยละ ๑๒ นั้น เมื่อสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำมาวิเคราะห์พบว่ามีส่วนประกอบดังตาราง

รังนก

 

ความคิดเห็นในแง่โภชนาการ

จากผลการวิเคราะห์สารอาหารของ รังนก สำเร็จรูปทั้ง ๒ ยี่ห้อที่มีขายในท้องตลาด จะเห็นว่า พลังงานที่ได้จากรังนกสำเร็จรูปนี้ได้จากนํ้าตาลกรวดที่เติมลงไปและมีปริมาณน้อยกว่าไข่ไก่ ๑ ฟอง หรือประมาณ ๑ ใน ๓ ของนม ๑ กล่อง

ในแง่โปรตีนมีข้อมูลน่าสนใจดังนี้

ถ้าต้องการได้โปรตีนจาก รังนก สำเร็จรูปเท่ากับไข่ไก่ ๑ ฟอง จะต้องกินรังนกมากถึง ๒๖ ขวด (เป็นเงิน ๓,๒๕๐ กว่าบาท)
ถ้าจะให้ได้โปรตีนจาก รังนก สำเร็จรูปเท่ากับนม ๑ กล่อง จะต้องกินรังนกมากถึง ๓๔ ขวด (เป็นเงิน ๔,๒๕๐ กว่าบาท)
อีกนัยหนึ่ง ปริมาณโปรตีนใน รังนก สำเร็จรูป ๑ ขวด (๗๐-๗๕ มิลลิลิตร) เท่ากับนมสดประมาณครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง ๒ เมล็ด

เมื่อทราบข้อมูลดังกล่าว ผู้บริโภคคงจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เพื่อให้ได้ชื่อว่า “ฉลาดซื้อ” หรือ “ฉลาดกิน” ขณะนี้ถ้าจะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตนเอง บุตรหลาน หรือซื้อเป็นของฝากผู้่วยหรือผู้สูงอายุคงจะต้องหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการบังคับให้ระบุคุณค่าทางโภชนาการ แต่ถ้ามีฉลากโภชนาการก็จะทำให้ง่ายต้อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารให้เหมาะกับความต้องการของตนเอง และยังสามารถเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่คล้ายๆ กันได้

ขอบคุณที่มาจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 389
นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล