พฤติกรรมติดโซเชียลเน็ตเวิร์กขนาดหนัก โดยเฉพาะคนชอบโพสต์ข้อมูลส่วนตั๊วส่วนตัวลงโซเชียลรัว ๆ วิจัยชี้ชัด อาจมีการทำงานของสมองแตกต่างจากคนทั่วไป

          ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคของโซเชียลเน็ตเวิร์กก็จริง แต่ก็ใช่ว่าเราจำเป็นต้องโพสต์ข้อมูลส่วนตัว ทุกความรู้สึก เช็กอินทุกที่ที่ไป และสิ่งอื่น ๆ รอบ ๆ ตัวเราลงโซเชียลซะเมื่อไร และรู้ไหมว่าคนที่ชอบโพสต์อะไรแบบนั้นผ่านโซเชียลบ่อย ๆ วิจัยก็ฟันธงดังฉับ ! เขาอาจมีการทำงานของสมองที่ไม่เหมือนเรา ๆ ผู้ที่เล่นโซเชียลก็บ่อยแต่ไม่ค่อยโพสต์ก็เป็นได้
 

พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต

 
          นักวิทยาศาสตร์จาก Freie Universität กรุงเบอร์ลิน ค้นพบว่า ผู้ที่ชอบโพสต์ข้อมูลส่วนตัวลงโซเชียลบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสเตตัสบ่นเพ้อ รูปเซลฟี่ของตัวเอง หรือแม้กระทั่งคลิปวิดีโอส่วนตัว อาจมีกลไกการทำงานของสมองต่างจากคนอื่น โดยมีปัจจัยบางอย่างที่กระตุ้นให้สมองในส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับรู้เกี่ยวกับตัวเอง (self-cognition) จดจำกับพฤติกรรมชอบแชร์ และมีการเน้นย้ำความทรงจำนั้นบ่อย ๆ จนสมองสั่งการให้เขาแชร์เรื่องที่เกี่ยวกับตัวเองลงโซเชียลรัว ๆ โดยที่ไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของตัวเองแต่อย่างใด
 
          โดย ดร.Dar Meshi ผู้นำทีมวิจัยก็เผยว่า การศึกษาในครั้งนี้มีอาสาสมัครทั้งหมด 35 คน โดยทีมได้โฟกัสการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการเล่นโซเชียลไว้ 2 ส่วน ได้แก่ คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่แสดงบุคลิกภาพส่วนตัว รับผิดชอบการตัดสินใจ และจัดการพฤติกรรมทางสังคมของตัวเรา อีกส่วนคือสมองส่วน precuneus ทำหน้าที่สะท้อนความเป็นตัวตน และตระหนักรู้เกี่ยวกับความรู้สึกของตัวเอง
 
          ทั้งนี้งานวิจัยได้เจาะจงกับโซเชียลมีเดียชนิดเดียวคือเฟซบุ๊ก ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมาก และครอบคลุมทั้งการโพสต์สเตตัส รูป และคลิปวิดีโอ จากนั้นก็คัดกลุ่มอาสาสมัครตัวจี๊ดที่ชอบโพสต์เฟซบุ๊กบ่อย ๆ มาทำการศึกษาด้วยกระบวนการ Neuroimaging Technology สแกนสมองในส่วนที่โฟกัส และมาวัดความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของสมองส่วนเน็ตเวิร์ก กับสถิติการโพสต์ของอาสาสมัครแต่ละคน 
 

พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต


          โดยการศึกษาพบว่า กลุ่มอาสาสมัครที่ชอบโพสต์เฟซบุ๊กบ่อย ๆ จะมีร่องรอยการทำงานของสมองทั้งส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า และส่วน precuneus หนักมาก อีกทั้งยังลามมาทิ้งรอยหยักที่สมองส่วนข้างและด้านหลัง (lateral orbitofrontal cortex) อีกต่างหาก ต่างจากผลสแกนสมองของอาสาสมัครที่ไม่ค่อยมีประวัติโพสต์เฟซบุ๊กบ่อยเท่าไร
 
          นอกจากนี้ผลการศึกษาจาก Gwendolyn Seidman of Albright College ยังเผยข้อมูลมาว่า สำหรับคนชอบโพสต์สเตตัสแสดงความรู้สึก และเรื่องดราม่าบ่อย ๆ อาจเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง มีความเก็บกด และมักจะใช้โลกออนไลน์แสดงความรู้สึก และบางคนมีแนวโน้มจะใช้โลกออนไลน์เพื่อหลีกหนีความจริงบางอย่าง หรือใช้มันเป็นหน้ากากปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตัวเองอีกด้วย

          แม้ยุคโซเชียลจะช่วยให้เราเข้าถึงเพื่อน ๆ และข้อมูลข่าวสารมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมเงยหน้ามาพูดคุยกับคนรอบข้างกันบ้างนะคะ

        
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Dailymail
The Atlantic