ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกติดปากว่า อากู๋ แกรมมี่ เปิดแผนธุกิจสำหรับการรุกเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ  โดยเริ่มดึงผู้บริหารระดับสูงจากวงการโฆษณา ภาวิต จิตรกร  นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การตลาดคุมทิศทางการตลาดและจัดระบบองค์กรใหม่  พร้อมกับชูยุทธศาสตร์ Total Media Solution โดยนำเอาจุดแข็งของแกรมมี่ทั้งในแง่ผู้นำด้านคอนเท้นท์ Entertainment Based และ Platform ออนไลน์ที่แข็งแกร่งมาผสานกัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางรายได้สำคัญของแกรมมี่

King of Content  

แกรมมี่ในฐานะผู้ผลิตคอนเท้นท์มาอย่างยาวนานกว่า 33 ปี เริ่มต้นด้วย “ธุรกิจเพลง”  และขยายมาเป็นธุรกิจสื่อ ภาพยนตร์ อีเว้นท์ และอื่นๆอีกมากมาย  แต่ขณะเดียวกันก็สร้างฐานผู้ชมในออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลต่างๆไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น Youtube, LINE TV,  Facebook,  Instagram  ซึ่งฐานผู้ชมหรือแฟนคลับเหล่านี้จะเป็นแต้มต่อให้กับธุรกิจของแกรมมี่ในโลกดิจิตอล

ปัจจบัุนช่องทาง YouTube จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มียอดวิวรวมจากช่องในเครือทั้งหมด จำนวน 17,349 ล้านวิว (คิดเฉพาะช่องในเครือ GMM ที่ติดอันดับ Top 100 ของประเทศ) โดยช่อง GMMGRAMMY OFFICIAL สามารถครองยอดวิวสูงสุดอันดับ 1 ของประเทศ และอันดับ 15 ของโลก ทั้งนี้คาดว่า ช่อง GMMGRAMMY OFFICIAL มีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มียอดวิวสะสมกว่า 6,258 ล้านวิว คาดว่าจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านวิวในปีหน้า และ 12,500 ล้านวิวในปีถัดไป (Source: Socialblade.com) และยังมีผู้ติดตามคอนเท้นท์ทาง LINE TV และ Facebook Fanpage  ของศิลปินและกลุ่มธุรกิจของแกรมมี่ อีกกว่า 35 ล้าน user และยังมีคอนเท้นท์ของแกรมมี่หลายอย่างที่ติดท๊อปใน Search Platform  เช่น เพลงเชื่อกวิเศษ หรือ ซีรีย์รักนะเป็ดโง่ เป็นต้น

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม  อธิบายต่อว่า  สถิติตัวเลขบนโลกดิจิตอลเหล่านี้เป็นพิสูจน์ทราบเจ้าของแพลตฟอร์มระดับโลก นับจากการใช้ของผู้ชมจริงๆมีตัวตนจริง  ขณะที่ทีวียังใช้ระบบเรตติ้งในการวัดผลโดยมีเพียงสูตรคำนวณ CPRP และกล่องเรตติ้งเพียง 2,000 กว่าชิ้น

“หากจะเป็น King of Content ได้ต้องมี Ecosystem  3 องค์ประกอบ ได้แก่  Vdo Sharing platfrom (Youtube, LINE TV)  , Community Hub (Facebook, Instagram) ,  Search (Google)  จากสถิติทั้งหมดที่กล่าวมาเราเป็นอันดับ 1   ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราแข็งแกร่งในด้านออนไลน์ ไม่แพ้กับทีวี  ” ภาวิต จิตรกร เสริม 

 

image: http://www.brandbuffet.in.th/wp-content/uploads/2016/03/GMMGRAMMY_INFOGRAPHIC_EDIT.jpg

Untitled-4

มากกว่า “ไทด์อิน”

ภาวิต จิตรกร อธิบายถึง ยุทธศาสตร์ใหม่ Total Media Solution  จะนำเอาความแข็งแกร่ง 3 ด้านทั้ง  On Ground (กิจกรรม/อีเว้นท์) – On Air (ทีวี/วิทยุ) – On Line (สื่อดิจิตอล) เพื่อจัดกรุ๊ปจัดระเบียบให้เกิดความผสานกันมากขึ้นและรายได้ที่เพิ่มขึ้น จาก Asset เดิมที่มีอยู่กระจัดกระจายทำงานแยกตามแต่ละส่วนๆ ทั้งเพลง ละคร ภาพยนตร์ ทีวี วิทยุ และ ศิลปิน เป็นต้น  โดยจะจัดทำออกมาเป็นแพ็คเกจต่างๆเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการตลาดหรือการทำโฆษณาสินค้าของลูกค้า

จากเดิมแกรมมี่เป็นเพียงสื่อไว้ลงโฆษณาในรูปแบบไทด์อิน จ้างศิลปินพรีเซนเตอร์ ทำมิวสิควีดีโอ เป็นต้น  แต่ต่อไปนี้จะเพิ่มส่วน B2B  ทำโฆษณาเข้าไปด้วยพร้อมกับใช้ Entertainment Infrastructure ทั้งเครือแกรมมี่ในการสร้างให้เกิดกระแสหรือการรับรู้  เรียกบริการ Branded Entertainment ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาทางการตลาดให้กับลูกค้า (เจ้าของสินค้า) เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มคิดจาก Brand Essence ของลูกค้าเป็นหลัก 

“เดิมทีเราเพียงแค่แก้ปัญหาจากลูกค้าในรูปแบบ B2C เช่น คิดคอนเสิร์ต คิดละครแบบไหนให้ผู้บริโภคสนใจและใส่โปรดักซ์เข้าไปในนั้น แต่เราจะเป็นมากกว่าเดิม คือ บริการในรูปแบบ B2B ทำโฆษณาในรูปแบบ Entertianment Based เราจะเอานำ Asset ของแกรมมี่มาทำงานร่วมกับ Creative หรือ Media Agency ที่เข้าใจแบรนด์ลูกค้า พร้อมกับช่องทางสื่อทั้งอะนาล๊อคและออนไลน์ที่แข็งแกร่งของเรา”  ภาวิต จิตรกร กล่าว

ขณะที่ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เสริมต่อว่า การทำคอนเท้นท์จะไม่ใช่แค่การทำไทด์อินสินค้า และไม่ใช่โฆษณาทั่วไป  แต่จะคอนเท้นท์ที่ทำบนพื้นฐานของแบรนด์หรือสินค้าลูกค้า แต่มีคุณค่าและความหมายให้กับผู้ชม

ตัวอย่างการทำโฆษณา Branded Entertainment  มินิซีรีย์  The Dreamer คอนโด บาริสต้า สถาปนิก ที่ทำให้กับลูกค้าคอนโด Circle 2 (Fragrant Property)

 

Influencer Hub

และภายใต้ยุทธศาสตร์ Total Media Solution  เฟสแรกยังมีการเปิดตัว Influencer Hub ศูนย์กลางของเหล่าผู้ทรงอิทธิพลทั้งศิลปินและนักแสดงในเครือที่เป็นช่องการรับงานโปรโมตต่างๆผ่านออนไลน์และโซเซียลมีเดีย ปัจจุบันมีศิลปินและนักแสดงกว่า 300 คน โดยชูจุดเด่นด้าน KPI ชัดเจน และการเจาะกลุ่มเป้าหมายแบบ Interest Based  นอกจากนี้จะมีโปรเจ็คใหม่ทะยอยเปิดเรื่อยๆภายในปีนี้