กล่องพลาสติกเข้าไมโครเวฟ การอุ่นอาหารที่คุ้นเคยกันดีในวิถีชีวิตที่เร่งรีบอย่างยุคสมัยนี้ กับข้อสงสัยว่าภาชนะพลาสติกกับไมโครเวฟ จะก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพมากแค่ไหน วันนี้เราจะได้คำตอบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
เหมือนจะพอรู้กันอยู่ว่าการอุ่นอาหารในไมโครเวฟด้วยภาชนะพลาสติกเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะก่ออันตรายกับสุขภาพได้ ทว่าเหล่าอาหารแช่แข็งที่อยู่ในกล่องพลาสติกนั่นล่ะ ทำไมยังเอาเข้าไมโครเวฟเพื่ออุ่นอาหารได้ตามปกติ แถมร้านสะดวกซื้อก็อุ่นอาหารแบบนี้ด้วยกันทั้งนั้น
เอ้า ! สรุปว่ามีพลาสติกที่เข้าไมโครเวฟได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่จริง ๆ หรือการอุ่นอาหารในไมโครเวฟด้วยกล่องพลาสติกชนิดไหน ๆ ก็ยังคงอันตรายอยู่ เราจะได้รู้กันจากบรรทัดด้านล่างนี่แหละ
Laura Vandenberg ศาสตราจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแมสซาซูเซตส์ กล่าวว่า ในภาชนะพลาสติกทุกชนิดจะมีสาร BPA (Bisphenol A) และพทาเลต (Phthalates) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกทุกชิ้นบนโลกใบนี้ และเจ้าสารที่ว่าก็ยังสามารถซึมออกมาจากภาชนะพลาสติก และปนเปื้อนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มของเราได้ โดยเฉพาะหากภาชนะพลาสติกถูกอุ่นให้ร้อน หรือแม้แต่ถูกบรรจุด้วยสารที่เป็นกรด ไขมัน หรือมีโซเดียมค่อนข้างสูง
ซึ่ง The Endocrine Society ทีมนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฮอร์โมนก็ออกโรงเตือนมาด้วยว่า สารเคมีในพลาสติกเป็นตัวการก่อกวนฮอร์โมนในร่างกาย และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วนได้
และแม้ว่าทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาจะออกมาค้านว่า สาร BPA ในพลาสติกมีผลกระทบกับสุขภาพไม่รุนแรงอย่างที่กลัวกัน และร่างกายเราสามารถขับสาร BPA ออกไปทางการขับถ่ายได้ ทว่าทางนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าพลาสติกอุ่นในไมโครเวฟจะปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงพยายามทำการทดลองในสัตว์อย่างหนู และลิง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีลักษณะทางชีวภาพคล้ายกับมนุษย์มากที่สุด และเขาพบว่า เมื่อให้สัตว์ทดลองได้รับสารเคมีจากพลาสติกเป็นเวลาหนึ่ง ก็มีผลกระทบให้สัตว์ทดลองเหล่านั้นเกิดอาการป่วย โดยตรวจพบว่าสัตว์ทดลองมีปริมาณ BPA ในเลือดค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ตรวจพบว่า ในร่างกายของเรามักจะตรวจพบสาร BPA อยู่ในเส้นเลือดมากถึง 90% และที่ร่างกายมีปริมาณสาร BPA มากขนาดนี้ก็เป็นเพราะพฤติกรรมการบริโภคประจำวัน ที่ทำให้เราได้รับสารเคมีดังกล่าวในลักษณะสะสม อย่างการบริโภคอาหารที่อยู่ในกล่องพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก หรือแม้กระทั่งกระป๋องสเตนเลส และการใช้ฟิล์มถนอมอาหาร ภาชนะเหล่านี้ก็มีสาร BPA และสารเคมีที่มีคุณสมบัติหล่อพลาสติกและสเตนเลสให้เป็นของแข็งผสมอยู่ในจำนวนมากนะคะ
อย่างไรก็ดี แม้ร่างกายจะสามารถขับสาร BPA ออกไปได้ และสมัยนี้ก็มีการผลิตพลาสติกชนิดที่มี BPA น้อย หรือปราศจากสาร BPA เลย แต่ก็อย่าลืมว่าในภาชนะพลาสติกและกระป๋องโลหะต่าง ๆ ก็ยังคงมีสารเคมีอีกหลายชนิดเช่นกัน ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงหรือลดการบริโภคอาหารที่บรรจุอยู่ในพลาสติกและกระป๋อง โดยเฉพาะการอุ่นอาหารในไมโครเวฟ เพื่อความปลอดภัยก็เปลี่ยนมาใส่อาหารในภาชนะที่เป็นแก้วแล้วค่อยนำไปอุ่นจะดีกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Prevention
WebMd